ผู้เขียน หัวข้อ: ทองเนื้อเก้า วันที่ 20 ตุลาคม 2556  (อ่าน 828 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ RobotNew

  • Moderator
  • *****
  • กระทู้: 3411
  • Level:
    0%
  • Thank : 0
    • ดูรายละเอียด
    • สะกิดข่าว
    • อีเมล์
ทองเนื้อเก้า วันที่ 20 ตุลาคม 2556
« เมื่อ: ตุลาคม 20, 2013, 06:20:54 am »

 ลำยองหันขวับไปเผชิญหน้าอย่างเอาเรื่อง  “แกเป็นใคร”      “ฉันนี่แหละภรรยาคุณกวงไม่ใช่เธอ...กลับบ้านไปซะดีกว่า”     “อ้อ...เนี่ยเหรอ...เมียคุณกวง”   ลำยองมองหัวจดเท้า แล้วแสยะยิ้ม   “รูปร่างก็ดีใช้ได้นี่ ยังกะแม่วัว แล้วทำไมให้พ่อพันธุ์ ไม่ได้ซักตัวล่ะ ได้แต่ตัวเมีย ทำพันธุ์ไม่ได้จนผัวเอือมระอา”      “มันไม่สำคัญหรอกนะ เพราะฉันไม่ใช่วัวแม่พันธุ์อย่างเธอ ที่มีหน้าที่แค่ให้ลูกชายเขาแล้วก็หมดความหมาย แต่ฉันเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายและประเพณี เป็นเจ้าของทุกอย่างร่วมกับเขา...เธอกลับไปซะดีกว่าแม่ลำยอง”    “ไม่กลับ ฉันต้องพบคุณกวงก่อน”   “พูดไม่รู้เรื่อง ซ้อไม่ต้องไปคุยกับมันหรอก” สมัยบอกเถ้าแก่สาว     “ฉันก็เป็นเมียคุณกวงเหมือนกัน” ลำยองอ้างสิทธิ       “แต่เขาไม่ต้องการพบเธอแล้ว”   “แกเอาเขาไปกกไว้คนเดียวใช่ไหมล่ะ กลัวเขาจะมีลูกชายกับฉันอีก เพราะแกมันทำพันธุ์ไม่ได้”  “กลับไปซะ ถ้าไม่อยากเจ็บตัว” อาซ้อเสียงดัง       “เอาสิโว้ย แลกตบกันคนละฉาดก็ได้ กูไม่กลัวมึงหรอก อีซิ้ม...ปล่อยกู...แน่จริงตัวต่อตัวสิวะ”   
    
    ลำยองถลกกระโปรงชี้หน้า ท้าตบ แต่อาซ้อไม่จำเป็นต้องออกแรง คนงานชายเข้ามาล็อกตัวลำยองไว้ ลำยองโวยวาย    “ฉันไม่แลกกับคนอย่างเธอหรอก เธอเคยเป็นคนงานที่นี่ เธอก็น่าจะรู้ดีว่า แค่นั่งชุบกะละมังมือก็เปื่อยแล้ว ถ้าบังเอิญนํ้ากรดเข้มข้นพวกนั้นมันหกราดไปบนหน้าเธอมันจะเละขนาดไหน เก็บหน้า ขาว ๆ สวย ๆ ของเธอไว้หาผัวใหม่ดีกว่า”   “มึงขู่กูเหรอ”
    
    “ตะรางน่ะ เอื้อมมาไม่ถึงฉันหรอกนะ ลำยอง เพราะเงินฉันมีเป็นล้าน แค่ฉันบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุ มันก็จะเป็นแค่อุบัติเหตุ”      “ก็เอาซี้ มึงสาดนํ้ากรดกู กูจะเอามึงให้ถึงตายเลย...ปล่อยกู...ปล่อย” ลำยองดิ้นพยายามสะบัดออก   คนงานชายลากตัวลำยองออกไปโยนนอกรั้วโรงงาน ลำยองกรีดเสียงเรียกร้องความสนใจ   “ไอ้เลว...กูเป็นเมียคุณกวงเหมือนกันนะมึง คอยดู กูจะให้คุณกวงไล่พวกมึงออกให้หมดเลย...ลูกกู เอาลูกกูคืนมา ไอ้พวกคนชั่ว พรากลูก พรากแม่เขา...พวกมึงต้องตกนรกเอาลูกกูคืนมา ...อภิชาติลูกแม่”  ลำยองยังปักหลักฟูมฟาย เล่นละครไม่เลิก อาซ้อเมียเสี่ยกวงตัดสินใจเดินลงมาหาลำยองอีกครั้ง  “ช่วยบอกคุณกวงว่าฉันขอลูกฉันคืนได้ไหม”  “เรื่องนี้ฉันไม่ขอยุ่งด้วยหรอกนะ ย่าเขาเอาไปเลี้ยงเอง...ย่าเขาเลี้ยงลูกของเธออย่างดี เพราะ เขาอยากได้หลานชายมานานแล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก โตอีกหน่อยเขาอาจจะพามาเยี่ยมเธอบ้างก็ได้”    “ฉันอยากเห็นหน้าลูกบ้าง ทุกคืนฉันไม่เคยนอนหลับเลย คิดถึงแต่ลูก”    “เธอกลับไปซะเถอะ”    “บอกคุณกวง อย่าใจร้ายใจดำกับฉันนักเลย ขอให้ฉันเห็นหน้าลูกบ้าง ลูกฉันนะ อภิชาติเขาเป็นลูกฉัน”  
    
    ลำยองแสร้งฟูมฟายหนักขึ้น อาซ้อเมีย กวงสะเทือนใจในฐานะแม่คนหนึ่ง ขึ้นรถไป ลำยองก็หยุดเล่นละครได้ทันทีมองตามรถที่แล่นออกไปอย่างหมั่นไส้ แล้วถ่มนํ้าลายลงพื้นระบายอารมณ์ เมื่อไม่มีใครสนใจ ลำยองก็ซมซานกลับไป แล้วทางออกของเธอก็คือเหล้าเหมือนเดิม    “ไอ้วัน...ออกไปซื้อเหล้ามาขวด” ลำยองควักเงินออกมาจากกระเป๋า     “เอ็งใช้ลูกออกไปซื้อเหล้าได้ยังไงวะ นังลำยอง” ยายต่อว่าลูกสาว    “ทำไมจะไม่ได้แม่ ไอ้นี่มันวิ่งไว”   “มันตัวกะเปี๊ยกแค่เนี้ย มันเหมาะมันควรที่ไหนวะ เดี๋ยวมันก็เห็นว่าเป็นของดีของงาม”   “ไอ้นี่มันไม่กล้าแอบกินหรอก เอ...หรือว่าเอ็งแอบกินไปแล้ว ไอ้วัน” ลำยองตวาดถามวันเฉลิม   “ไม่ครับ หลวงตาสอนว่า เหล้าเป็นของไม่ดี มีสิ่งชั่วร้ายอยู่ในนั้น ไม่ควรเข้าใกล้มันครับ”   “เออ...ไงล่ะ เด็กตัวแค่นี้ มันยังรู้ถูกรู้ควร”  “แม่กินข้าวดีกว่าครับ กินเหล้าไม่เห็นมีประโยชน์เลย”      “เอ็งไม่ต้องมาสอนข้า หน็อยตัวเท่าลูกหมา เดี๋ยวเถอะมึง...เอ็งยกข้าวเอ็งไปกินทางโน้นไป ไอ้วัน ข้ารำคาญ”     
    วันเฉลิมยกจานข้าวตัวเองไปนั่งกินอีกมุม ยายแลมองรู้สึกสงสารหลานเหมือนกัน   “เอ็งทำใจแข็ง ๆ หน่อยสิวะ เลิกได้ มันก็ดี ไอ้เหล้าเนี่ย”      “เลิกแล้วฉันเกิดโทรม เหี่ยว ขึ้นมาล่ะ”   “ข้าว่าเอ็งทั้งโทรม ทั้งเหี่ยวก็เพราะกินเหล้านี่แหละ”    
    
    “แม่บอกฉันเองว่ากินเหล้าแล้วบำรุง”   “แต่เอ็งมันกินเยอะจนเกินบำรุงแล้ว คุณกวงเขาเอือมเอ็ง หนีหน้าเอ็งก็เพราะเหล้านี่แหละข้าว่า”  ลำดวนหอบกองผ้าที่ใส่แล้วกองมหึมาออกมาจากห้องลำยองโยนลงกับพื้น    “ไม่ได้ซักมากี่ปีกี่ชาติแล้วเนี่ย”    “จ้างให้มาซักโว้ย ไม่ได้จ้างให้มาบ่น” ลำยองตวาดลำดวน  
    
    “ผ้ากองเป็นภูเขาขนาดนี้ ซักจนมือเปื่อยได้แค่สิบบาท ฉันไม่เอาหรอก”     “เอ๊ะ อีนี่” วันเฉลิมเห็นแม่กับน้าลำดวนตั้งท่าจะทะเลาะกัน จึงอาสาเป็นคนซักผ้าทั้งหมดเอง
     
    เช้าวันหนึ่ง ระหว่างรอรถโรงเรียนมารับ วันเฉลิมรดนํ้าผักสวนครัวและรดต้นไม้ สมัยผู้จัดการโรงงานขับรถมาจอดหน้าบ้านถามหาลำยองวันเฉลิมรีบขึ้นไปปลุก ลำยองเดินหัวฟูหน้าเยินลงมาเห็นสมัยก็แปลกใจ      “มาทำไม”     “คุณนายให้เอามาให้”    สมัยยื่นซองสีนํ้าตาลให้ ลำยองรับซองไปอย่างงง ๆ สมัยเดินกลับไปขึ้นรถขับกลับไปโดยไม่พูดอะไรอีก ลำยองเข้ามาเปิดซองออกดูเห็นเงินเป็นปึก ๆ ก็ดีใจ นอกจากเงินก็ยังภาพถ่ายอภิชาติ และจดหมายฉบับหนึ่งด้วย แต่ลำยองสนใจเงินมากกว่าอย่างอื่น...หลังจากนับเงินได้จำนวนสองหมื่นก็หัวเราะชอบใจ    
    “อีหน้าโง่...กูเล่นละครให้ดูหน่อยเดียว ก็เสียรู้กู ชิ...ถือว่าเป็นเศรษฐี ซื้อผัวคืนสองหมื่น ผัวคน ลูกคน คนละหมื่น เอาคืนไปเหอะมึง”   
    ลำยองโกยเงินมากอดอย่างมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก ไม่ได้สนใจรูปถ่ายลูกกับจดหมายเลย...จากนั้นลำยองก็ไปที่เพิงขายก๋วยเตี๋ยวของลำยง   “มาก็ดีเลย เย็นนี้ว่าจะให้ไอ้ปานมันไปช่วยเก็บเงินให้อยู่ ค่าก๋วยเตี๋ยวน่ะ หลายวันแล้วนะ พี่ลำยอง”      
    “หน็อยอีนี่...เป็นน้องเป็นนุ่ง มึงกล้าทวงกูเหรอ อีลำยง”      ลำยองควักเงินออกมาวางแปะให้ บอกไม่ต้องทอน ลำดวนเห็นเงินเป็นปึกก็ตาโต   “เมียตากวงเขาให้กูมาโว้ย กูกำลังคิดอยู่ว่า จะลงทุนอะไรดี”     “เอ็งก็มาหุ้นร้านก๋วยเตี๋ยวกับนังลำยงมันสิวะ จะได้มาช่วยกัน” ตาปอเสนอ    “กำไรชามละสลึงห้าสิบ ชาติหน้าละมั้งถึงจะรวย”       “เอ็งอยากลงทุน ทำไมไม่ตั้งร้านเสริมสวยแข่งกะนังบุญตามันล่ะ ข้าเห็นลูกค้ามันโครม ๆ” ยายแลแนะนำ      “ร้านเสริมสวยหรอ ไม่เอาหรอก ยืนจนขาแข็ง ต้องทนขุดเล็บตีนให้ใครต่อใครก็ไม่รู้ บางทีต้องมาจับเหาให้ด้วย กว่าจะได้เงิน...อ้วกแตกตาย” 
    
    “งั้นก็ไปเรียนตัดเสื้อสิ พี่ชอบอยู่แล้วนิ เรื่องสวย ๆ งาม ๆ นะ” ลำดวนเสนอบ้าง   “ต้องมานั่งถีบจักรหลังขดหลังแข่ง ไม่เอาหรอก ข้าไม่ใช่ขี้ข้าใคร” ลำยองไม่เอา   “อะไรก็ไม่เอาซักอย่าง นั่ง ๆ นอน ๆ พี่คิดว่าเงินมันจะงอกเงยขึ้นมาได้เองหรือไง” ลำยงรำคาญ    
    
    “เรื่องของกู กูมีปัญญาของกูก็แล้วกัน”   “เงินเอ็งเยอะ ก็เอามาให้ข้ากู้ลงทุนสิวะ ข้าจะจ่ายดอกให้งาม ๆ”      “แม่จะลงทุนอะไร” ลำยองอยากรู้   ยายแลพาลำยองไปลงทุนในบ่อนการพนัน...วันเฉลิมกลับจากโรงเรียนเข้าบ้านไม่ได้เพราะประตูปิดล็อก คุณยายวิมลออกมาเห็นจึงเรียกให้เข้าไปพักในบ้านของคุณยาย แล้วหาข้าวหาขนมให้กินพร้อมกับหนูสมฤดี     “หิวมากล่ะสิ กินเยอะ ๆ กินให้อิ่มลูก ยายเห็นบ้านเงียบมาหลายวันแล้วเหมือนกัน คนใช้ไปไหนกันหมดแล้วล่ะพ่อวัน”     “ลาออกแล้วครับ ที่บ้านไม่มีใครอยู่แล้ว ป๊าก็พาน้องไปแล้วเหมือนกัน”    คุณยายวิมลฟังแค่นั้นก็เข้าใจเรื่องราวได้ทันที หนูสมฤดียื่นขนมมาป้อนวันเฉลิม วันเฉลิมยิ้มกินขนมที่หนูสมป้อนให้ คุณยายวิมลมองด้วยความรู้สึกรักและสงสารวันเฉลิม...วันเฉลิมไปเพิงขายก๋วยเตี๋ยว ลำยงผู้เป็นน้ากำลังวุ่นวายอยู่กับงาน เด็กน้อยจึงเดินผ่านไปถึงเรือนแพเห็นปู่กับย่ากำลังสาละวนกับการขายของ วันเฉลิมไม่อยากรบกวนใครให้เดือดร้อน เดินผ่านไปที่กุฏิหลวงตาปิ่น   “อ้าวไอ้วัน...มาทำไมเอาเย็นป่านนี้วะ”   “วันเข้าบ้านไม่ได้ครับ”    “เข้าบ้านไม่ได้...แล้วแม่เอ็งไปไหน”   “วันไม่รู้ครับ”
    
    “เขาไม่ได้บอกเอ็งไว้เลยเรอะ”
    
    “เปล่าครับ”
    
    “เออ...ให้มันได้ยังงี้สิ...มันเป็นแม่ประสา อะไรของมันวะ ไม่รู้หน้าที่ความเป็นแม่ของตัวเอง”
    
    “แม่คงมีธุระสำคัญน่ะครับหลวงตา”
     
    “นี่เอ็งคงหิวละสิถึงได้โผล่มานี่ เย็นป่านนี้แล้วข้าไม่มีอะไรเหลือให้เองกินแล้ว ไอ้วัน...”
     
    “วันหิวนิดหน่อยแต่ไม่เป็นไรครับ วันกินนี่แทนข้าวก็ได้” วันเฉลิมหยิบเอาข้าวต้มมัดออกมาจากกระเป๋ากางเกง
     
    “แม่สมัยนี้มันเป็นยังไงของมันกันหว่า”
     
    บ่อนเลิกสามทุ่ม ลำยองเดินยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เพราะวันแรกก็ดวงขึ้นเล่นได้ รีบกลับบ้านโดยพาละม่อม หลานสาวนักการพนันคนหนึ่งในบ่อนไปเป็นคนใช้ใหม่ที่บ้านด้วย ลำยองเห็นกระเป๋านักเรียนของวันเฉลิมวางอยู่แต่ไม่เห็นตัวก็ส่งเสียงเรียก
    
    ปานมาขออาศัยนอนพักที่บ้านสักคืน ลำยองโยนกุญแจให้พร้อมสั่งปานให้พาละม่อมเข้าพักห้องเก่าของชื่น แล้วลำยองก็เดินไปตามวันเฉลิมที่บ้านยายแล แต่ไม่พบก็เริ่มโมโห ตาปอออกความเห็นว่า
    
    “มันกลับมาบ้าน ไม่เจอใครมันก็คงเดินเล่นไปเรื่อยน่ะแหละวะ หรือมันจะไปกับไอ้ปาน”
    
    “ไม่มี ฉันเจอไอ้ปานมันแล้ว”
    
    “แล้วพี่มัวไปทำอะไรที่ไหนถึงไม่อยู่บ้านจนมืดคํ่า” ลำยงถาม
    
    “ก็ไปธุระกะแม่”
     
    “ธุระอะไรแม่”
    
    “ธุระก็แล้วกันไม่เกี่ยวกะมึง”
    
    “หรือจริง ๆ แล้วไอ้วันมันตั้งใจมานี่แหละ แต่มาไม่ถึง” ลำดวนพูดขึ้นอย่างคาดเดา   

                             


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เดลินิวส์-ข่าวบันเทิง

 
แชร์บทความ...
โค้ดแบบ forum
(BBCode)
โค้ดแบบ site/blog
(HTML)